ราชกิจจานุเบกษา
เล่มที่๑๑๙ ตอนที่ ๔๐ ก ๓๐ เมษายน ๒๕๔๕

พระราชบัญญัติ ขายตรงและตลาดแบบตรง
พ.ศ. ๒๕๔๕


ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร.

ให้ไว้ ณ วันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๕
เป็นปีที่ ๕๗ ในราชการปัจจุบัน

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า

โดยที่เป็นการสมควรให้มีกฎหมายว่าด้วยการขายตรงและตลาดแบบตรง
พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา ๒๙ ประกอบกับมาตรา ๕๐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

จึงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำ และยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า”พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ.๒๕๔๕“

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ขายตรง”หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการนำเสนอขายต่อผุ้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัยหรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่มิใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ โดยผ่านตัวแทนขายตรงหรือผู้จำหน่ายอิสระชั้นเดียวหรือหลายชั้น แต่ไม่รวมถึง นิติกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
“ตลาดแบบตรง”หมายความว่า การทำตลาดสินค้าหรือบริการในลักษณะของการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการโดยตรงต่อผู้บริโภคซึ่งอยู่ห่างโดยระยะทางและมุ่งหวังให้ผู้บริโภคแต่ละรายตอบกลับเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น
“ผู้บริโภค”หมายความว่า ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง หรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ
“ผู้จำหน่ายอิสระ”หมายความว่า บุคคลผู้ที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและนำสินค้าหรือบริการดังกล่าวไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
“ตัวแทนขายตรง”หมายความว่า บุคคลซึ่งได้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้นำสินค้าหรือบริการไปนำเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค
“ซื้อ”หมายความรวมถึง เช่า เช่าซื้อ หรือได่มาไม่ว่าด้วยประการใดๆ โดยให้ค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น
“ขาย”หมายความรวมถึง ให้เช่า ให้เช่าซื้อ หรือจัดหาให้ไม่ว่าด้วยประการใดๆโดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงินหรือผลประโยชน์อย่างอื่น ตลอดจนการเสนอหรือการชักชวนเพื่อการดังกล่าวด้วย
“สินค้า”หมายความว่า สิ่งของที่ผลิตหรือมีไว้เพื่อขาย
“บริการ”หมายความว่า การรับจัดการทำการงาน การให้สิทธิใดๆ หรือการให้ใช้หรือให้ประโยชน์ในทรัพย์สินหรือกิจการใดๆ โดยเรียกค่าตอบแทนเป็นเงิน หรือผลประโยชน์อื่น แต่ไม่รวมถึงการจ้างแรงงานตามกฎหมายแรงงาน
“คณะกรรมการ”หมายความว่าคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง
“กรรมการ”หมายความว่ากรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง
“นายทะเบียน”หมายความว่า เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
“พนักงานเจ้าหน้าที่”หมายความว่า ผู้ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งให้ปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
“รัฐมนตรี”หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๔ ให้นายกรัฐมนตรีรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่และออกกฏกระทรวงเพื่อปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้   กฎกระทรวงนั้นเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

มาตรา ๕ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑)มีหนังสือเรียกบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ แจ้งข้อเท็จจริง หรือทำคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือให้ส่งบัญชี ทะเบียน เอกสาร หรือหลักฐานใดเพื่อตรวจสอบหรือประกอบการพิจารณา
(๒)เข้าไปในสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ในระหว่างเวลาทำการของสถานที่นั้น เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงหรือตรวจดูเอกสาร หรือหลักฐานเพื่อตรวจสอบการปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๓)เก็บหรือนำสินค้าในปริมาณพอสมควรไปเป็นตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบหรือวิเคราะห์โดยไม่ต้องชำระราคาสินค้านั้น ทั้งนี้ การเก็บหรือนำสินค้าตัวอย่างไปและการให้คืนสินค้าตัวอย่างตามความประสงค์ของเจ้าของให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
การใช้อำนาจตามวรรคหนึ่ง(๒)ต้องปฎิบัติตามระเบียบที่เลขาธการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนด ระเบียบดังกล่าวอย่างน้อยต้องกำหนดถึงการแสดงความบริสุทธิ์ก่อนการเข้าไปการมอบบันทึกเหตุผลในการเข้าไปให้แก่ผู้ครอบครองสถานที่ และการรายงานผลการปฎิบัติหน้าที่ต่อผู้บังคับบัญชา  ในการปฎิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องอนวยความสะดวกตามสมควร

มาตรา ๖ ในการปฎิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องแสดงบัติประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่  บัตรประจำตัวของพนักงานเจ้าหน้าที่ ให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๗ ในการปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ ให้กรรมการ อนุกรรมการ นายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา

หมวด ๑
คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง

มาตรา ๘ ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่งเรียกว่า”คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง”ประกอบด้วย
(๑) ประธานกรรมการหนึ่งคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขายตรงและการตลาดแบบตรง
(๒)กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมการค้าภายใน อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
(๓)กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับธุรกิจขายตรงจำนวนหนึ่งคน ผู้แทนสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับธุรกิจตลาดแบบตรง จำนวนหนึ่งคน และผู้แทนสมาคมหรือมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จำนวนสองคน
(๔)กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนสี่คน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับการขายตรงหรือการตลาดแบบตรง ทั้งนี้ ต้องแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคเอกชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง
ให้เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นกรรมการและเลขาธิการ
ในการแต่งตั้งกรรมการตามวรรคหนึ่ง(๓)ให้บรรดาสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับธุรกิจขายตรง สมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับธุรกิจตลาดแบบตรง หรือสมาคมหรือมูลนิธิที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค แล้วแต่กรณี เสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาแต่งตั้ง สำหรับหลักเกณฑ์และวิธีการเสนอชื่อบุคคลให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด

มาตรา ๙ ประธานกรรมการต้องไม่ดำรงตำแหน่ง หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นเกินจำนวนร้อยละสิบ ในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่ประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ในระยะหนึ่งปีก่อนดำรงตำแหน่งหรือระหว่างดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ

มาตรา ๑๐ ให้กรรมการตามมาตรา ๘ (๑)(๓)และ(๔) มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละสามปี กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับการแต่งตั้งอีกได้แต่ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน
เมื่อครบกำหนดตามวาระดังกล่าวในวรรคหนึ่ง หากยังมิได้มีการแต่งตั้งกรรมการขึ้นใหม่ ให้กรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งตามวาระนั้นอยุ่ในตำแหน่งเพื่อดำเนินงานต่อไป จนกว่ากรรมการซึ่งได้รับการแต่งตั้งใหม่เข้ารับหน้าที่

มาตรา ๑๑ นอกจากการพ้นตำแหน่งตามวาระตามมาตรา ๑๐ กรรมการซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
(๑) ตาย
(๒) ลาออก
(๓) เป็นบุคคลล้มละลาย
(๔) เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนคนไร้ความสามารถ
(๕) ได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
(๖) คณะรัฐมนตรีให้ออกเพราะบกพร่อง ไม่สุจริตต่อหน้าที่ มีความประพฤติเสื่อมเสียหรือหย่อนความสามารถ
ในกรณีที่กรรมการพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ คณะรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนได้และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน
ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการเพิ่มขึ้นในระหว่างที่กรรมการซึ่งแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่งให้ผู้ที่ได้บการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา ๑๒ ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุม หรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม
การประชุมคณะกรรมการทุกคราวต้องมีกรรมการมาประชุมไม่นน้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนนถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา ๑๓ คณะกรรมการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้
(๑)พิจารณาเรื่องร้องทุกข์จากผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำของผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจอิสระธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
(๒)แจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภค ในการนี้ จะระบุชื่อหรือบริการ หรือชื่อของผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงด้วยก็ได้
(๓)กำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง รวมทั้งติดตามสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
(๔)วางระเบียบหรือประกาศเกี่ยวกับการปฎิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
(๕)พิจารณาและวินิจฉัยการอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน
(๖)เสนิความเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับนโยบายและมาตรการในการกำกับดูแล รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องต่างๆที่เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย
(๗)สอดส่องเร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ ส่วนราชการ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐให้ปฏิบัติการตามอำนาจและหน้าที่ที่กฏหมายกำหนด ตลอดจนเร่งรัดพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัตินี้
(๘)เสนอแนะในการออกกฏกระทรวง ตามพระราชบัญญัตินี้
(๙)เรื่องอื่นตามที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีมอบหมาย
ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรานี้ คณะกรรมการอาจมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นผู้ปฏิบัติการหรือเตรียมข้อเสนอมายังคณะกรรมการเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปได้

มาตรา ๑๔ คณะกรรมการจะแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างไดแทนคณะกรรมการก็ได้

มาตรา ๑๕ การประชุมของคณะอนุกรรมการให้นำมาตรา ๑๒ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

มาตรา ๑๖ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๔ คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจสั่งให้บุคคลหนึ่งบุคลใดมาให้ข้อเท็จจริง คำอธิบาย คำแนะนำหรือความเห็น หรือส่งเอกสารหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องหรือสิ่งอื่นใดมาเพื่อประกอบการพิจารณาได้

มาตรา ๑๗ ในการปฏิบัติหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ คณะกรรมการต้องให้โอกาสแก่ผู้ถูกกล่าวหาหรือผู้ที่ถูกสงสัยว่ากระทำการอันเป็นการขัดต่อพระราชบัญญัตินี้ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและแสดงความเห็นตามสมควร เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นและเร่งด่วนหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือจะกระทบประโยชน์สาธารณะ
การกำหนดหรือการออกคำสั่งในเรื่องใดตามพระราชบัญญัตินี้ ให้คณะกรรมการคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง และในกรณีที่เห็นสมควรคณะกรรมการจะกำหนดเงื่อนไข หรือวิธีการชั่วคราวในการบังคับให้เป็นไปตามการกำหนดหรือการออกคำสั่งนั้นก็ได้

มาตรา ๑๘ ให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคตามกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภครับผิดชอบในงานธุรการของคณะกรรมการและมีหน้าที่รับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง ติดตามสอดส่องพฤติการณ์ในการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงและปฏิบัติงานให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้

หมวด ๒
การประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง

มาตรา ๑๙ ห้ามมิให้ผุ้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงดำเนินกิจการในลักษณะที่เป็นการชักชวนให้บุคคลเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงหรือในการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง โดยตกลงว่าจะให้ประโยชน์ตอบแทนจากการหาผู้เข้าร่วมเครือข่ายดังกล่าวซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้เข้าร่วมเครือข่ายที่เพิ่มขึ้น

ส่วนที่ ๑

การประกอบธุรกิจขายตรง

มาตรา ๒๐ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจขายตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๑ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องดำเนินกิจการให้เป็นไปตามแผนการจ่ายผลตอบแทนของตนที่ได้ยื่นต่อนายทะเบียนตามมาตรา ๓๘
แผนการจ่ายผลตอบแทนต้องมีลักษณะดังต่อไนี้
(๑)ต้องไม่กำหนดให้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างได้รับผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักจากการรับสมัครบุคคลหรือแนะนำผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างอื่นเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรง
(๒)ผลตอบแทนที่เป็นรายได้หลักของผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้าง ขึ้นอยู่กับการขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค รวมไปถึงการซื้อเพื่อการใช้หรือบริโภคเอง
(๓)ต้องไม่บังคับให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้า
(๔)ต้องไม่ชักจูงให้ผู้จำหน่ายอิสระซื้อสินค้าในปริมาณมากเกินไปอย่างไม่สมเหตุผล
(๕)ต้องแสดงวิธีการคำนวณการจ่ายผลตอบแทนที่ตรงต่อความเป็นจริง หรือเป็นไปได้จริงและอย่างเปิดเผยชัดเจน
(๖)ลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด
แผนการจ่ายผลตอบแทนใดที่มีลักษณะแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในวรรคสองให้มีผลบังคับใช้เท่าที่เป็นธรรมแก่ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้าง

มาตรา ๒๒ ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครเข้าเป็นสมาชิก ค่าฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับการเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในการประกอบธุรกิจขายตรงจากผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างในอัตราสูงกว่าที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

มาตรา ๒๓ สัญญาผู้จำหน่ายอิสระกับผู้ประกอบธุรกิจขายตรงให้ทำเป็นหนังสือซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(๑)เงื่อนไขที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจ่ายผลตอบแทนตามแผนการจ่ายผลตอบแทน
(๒)เงื่อนไขที่ชัดเจนเกี่ยวกับค่าธรรมเนียมการสมัคร ค่ฝึกอบรม ค่าวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย หรือค่าธรรมเนียมอื่นๆ
(๓)เงื่อนไขที่ชัดเจนเกี่ยวกับการที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงจะรับซื้อสินค้า วัสดุอุปกรณ์ ส่งเสริมการขาย ชุดคู่มือ หรืออุปกรณ์ส่งเสริมธุรกิจคืนจากผู้จำหน่ายอิสระ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่ผู้จำหน่ายอิสระ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่ผู้จำหน่ายอิสระสามารถใช้สิทธิดังกล่าว
ความในวรรคหนึ่ง(๑)และ(๒)ให้นำมาใช้บังคับแก่ตัวแทนขายตรงที่ไม่ใช่ลูกจ้างด้วย

มาตรา๒๔ ในการนำสินค้าหรือบริการไปเสนอขายตรงต่อผู้บริโภค ผู้จำหน่ายอิสระต้องดำเนินการตามเงื่อนไขและแผนการขายที่ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงกำหนด

มาตรา ๒๕ เมื่อผู้จำหน่ายอิสระใช้สิทธิคืนสินค้า วัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการขาย ชุดคู่มือ หรืออุปกรณ์ส่งเสริมธุรกิจที่ซื้อไปจากผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงซื้อคืนตามราคาที่ผู้จำหน่ายอิสระได้จ่าย ภายในระยะเวลาสิบห้าวันนับแต่วันที่ผู้จำหน่ายอิสระใช้สิทธิคืนแต่ในการใช้สิทธิคืนกรณีที่สัญญาตามมาตรา ๒๓ สิ้นสุดลง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงมีสิทธิหักค่าดำเนินการได้ไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด และมีสิทธิหักกลบลบหนี้ใดๆ อันเกี่ยวกับสัญญาตามมาตรา ๒๓ ที่ผู้จำหน่ายอิสระจะต้องชำระได้

มาตรา ๒๖ ในการเข้าไปติดต่อเพื่อเสนอขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ณ ที่อยู่อาศัย หรือสถานที่ทำงานของผู้บริโภคหรือของผู้อื่น หรือสถานที่อื่นที่ไม่ใช่สถานที่ประกอบการค้าเป็นปกติธุระ ผู้จำหน่ายธุรกิจอิสระหรือตัวแทนขายตรงจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้บริโภคหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นก่อน และต้องไม่กระทำการอันเป็นการรบกวนหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่บุคคลดังกล่าว ในการนี้ผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงต้องแสดงบัตรประจำตัวประชาชนและบัตรประจำตัวผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงซึ่งออกโดยผู้ประกอบธุรกิจขายตรงด้วย

ส่วนที่ ๒ การประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
มาตรา ๒๗ ห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจแบบตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนารประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัตินี้

มาตรา ๒๘ ข้อความในการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฏกระทรวง

มาตรา ๒๙ ให้นำบทบัญญัติของกฏหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆณามาใช้บังคับแก่การสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆณาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ

หมวด ๓ การคุ้มครองผู้บริโภค
มาตรา ๓๐ ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีหน้าที่ส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการแก่ผู้บริโภค เอกสารการซื้อขายตามวรรคหนึ่งต้องมีข้อความภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่าย โดยระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขายและวันที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ รวมทั้งสิทธิของผู้บริโภคในการเลิกสัญญาซึ่งสิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป

มาตรา ๓๑ คณะกรรมการมีอำนาจกำหนดรายละเอียดในเอกสารซื้อขายสินค้าหรือบริการที่ใช้วิธีการขายตรงหรือตลาดแบบตรง โดยถือเอาราคาสินค้าหรือบริการที่ผู้บริโภคได้รับการคุ้มครองและประเภทสินค้าหรือบริการเป็นสำคัญ เอกสารซื้อขายตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑)รายละเอียดตามมาตรา ๓๐
(๒)กำหนดเวลา สถานที่ และวิธีการในการชำระหนี้
(๓)สถานที่ และวิธีการในการส่งมอบสินค้าหรือบริการ
(๔)วิธีการเลิกสัญญา
(๕)วิธีการคืนสินค้า
(๖)การรับประกันสินค้า
(๗)การเปลี่ยนสินค้าในกรณีมีความชำรุดบกพร่อง ประกาศกำหนดรายละเอียดในเอกสารการซื้อขายให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา

มาตรา ๓๒ การซื้อขายหรือบริการใดที่ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ไม่ได้จัดให้มีเอกสารการซื้อขายที่มีรายละเอียดตามมาตรา ๓๐ หรือมาตรา ๓๑ ย่อมไม่มีผลผูกพันผู้บริโภค

มาตรา ๓๓ ในการซื้อสินค้าหรือบริการจากการขายตรงหรือจากการขายผ่านตลาดแบบตรงผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งหนัวสือแสดงเจตนาโดยตรงภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบอิสระขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง สำหรับธุรกิจขายตรงผู้บริโภคจะแจ้งไปยังผู้จำหน่ายอิสระหรือตัวแทนขายตรงที่เกี่ยวข้องก็ได้ บทบัญญัติตามวรรคหนึ่งไม่ใช้บังคับกับประเภท ราคาหรือชนิดของสินค้าหรือบริการตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

มาตรา ๓๔ ผู้บริโภคที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา ๓๓ ต้องเลือกปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (๑)ส่งสินค้าไปยังผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ในกรณีการขายตรง หรือส่งคืนสินค้ายังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ในกรณีตลาดแบบตรง (๒)เก็บรักษาสินค้าไว้ตามสมควรภายในระยะเวลายี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันใช้สิทธิเลิกสัญญา เว้นแต่สินค้านั้นเป็นของเสียง่ายโดยสภาพไม่สามารถเก็บรักษาได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เก็บรักษาตามเวลาและวิธีการอันสมควรแกี่สภาพ เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว ผู้บริโภคจะเก็บรักษาสินค้านั้นไว้หรือไม่ก็ได้ ผู้บริโภคที่เลือกปฎิบัติตามวรรคหนึ่ง (๒) มีหน้าที่ต้องส่งสินค้าคืนให้ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง แล้งแต่กรณี มารับคืน ณ ภูมิลำเนาของผู้บริโภค แต่ถ้าผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ขอให้ผู้บริโภคส่งคืนสินค้าทางไปรษณีย์โดยเรียกเก็บเงินที่ปลายทาง ภายในระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง (๒) ผู้บริโภคต้องส่งคืนสินค้านั้นตามคำขอของผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าว ถ้าสินค้าเป็นของใช้สินค้าสิ้นเปลือง ผู้บริโภคมีหน้าที่ส่งคืนสินค้าส่วนที่เหลือจากการใช้ก่อนใช้สิทธิเลิกสัญญา หลักเกณฑ์และวิธีการในการคืนสินค้าและบริการให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับคืนเงินที่ผู้บริโภคจ่ายไปในการซื้อสินค้านั้น

มาตรา ๓๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๓๔ หากสินค้าหรือบริการนั้นบุบสลาย หรือสูญหายเพราะความผิดของผู้บริโภค หรือผู้บริโภคได้ทำให้การคืนสินค้าหรือบริการกลายเป็นพ้นวิสัย ให้ผู้บริโภคชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบะรกิจตลาดแบบตรง แล้วแต่กรณี เว้นแต่เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติจากการเปิดการประกอบหรือการผสมเพื่อใช้สินค้าหรือบริการ

มาตรา ๓๖ เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา ๓๓ ให้ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรงผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายไปเพื่อการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นภายในกำหนดเวลาสิบห้าวันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา ในกรณีที่ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใดไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้จำหน่ายอิสระ ตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้นชำระเบี้ยปรับตามอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้แก่ผู้บริโภค

มาตรา ๓๗ คำรับประกันสินค้าหรือบริการให้จัดทำเป็นภาษาไทยและระบุสิทธิของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิตามคำรับประกันที่ชัดเจนและสามารถเข้าใจได้ถึงเงื่อนไขที่ระบุไว้ รายระเอียดเกี่ยวกับคำรับประกันสินค้าหรือบริการตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด

หมวด ๔ การจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
มาตรา ๓๘ บุคคลใดประสงค์จะประกอบธุรกิจขายตรงหรือประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียนตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการประกาศกำหนด สำหรับผู้ประกอบธุรกิจขายตรง ให้ยื่นแผนการจ่ายผลตอบแทน ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงให้นายทะเบียนทราบก่อนจึงจะนำไปปฎิบัติได้

มาตรา ๓๙ คำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงให้เป็นไปตามแบบที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้
(๑) ชื่อของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
(๒) ภูมิลำเนาของผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง
(๓) ประเภทหรือชนิดของสินค้าหรือบริการ
(๔) วิธีการขายสินค้าหรือบริการ

หมวด ๕ นายทะเบียน
มาตรา ๔๐ ในการปฎิบัติหน้าที่ของนายทะเบียนตามพระราชบัญญัตินี้ ให้อำนาจนายทะเบียนมีอำนาจเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้คำชี้แจง หรือให้ส่งเอกสารหรืหลักฐานที่จำเป็นมาเพื่อการประกอบการพิจารณาหรือตรวจสอบได้

มาตรา ๔๑ เมื่อได้รับคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรงให้นายทะเบียนพิจารณาและตรวจสอบในเรื่องดังต่อไปนี้
(๑)แผนการจ่ายผลตอบแทนต้องไม่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศิลธรรมอันดีของประชาชน
(๒)สินค้าหรือบริการมีลักษณะตรงตามที่ได้มีการสื่อสารข้อมูลเพื่อเสนอขาย
(๓)สัญญามีรายการถูกต้องและครบถ้วนตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด
ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่า การยื่นคำขอนั้นถูกต้องตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๙ ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง และแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันขอที่ได้รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง ในกรณีที่นายทะเบียนเห็นว่า การยื่นคำขอนั้นไม่ถูกต้องตามมาตรา ๓๘ วรรคหนึ่ง และมาตรา ๓๙ ให้มีคำสั่งให้ผู้ยื่นคำขอแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในเวลาอันสมควร เมื่อผู้ยื่นได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงถูกต้องแล้ว ให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงและแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเอกสารดังกล่าว ในกรณีที่ผู้ยื่นคำขอไม่ปฎิบัติ ตามคำสั่งให้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงภายในเวลาที่กำหนด ให้นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และให้นายทะเบียนแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ยื่นคำขอทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นกำหนดเวลาให้ปฎิบัติตามคำสั่ง

มาตรา ๔๒ กรณีปรากฎแก่นายทะเบียนในภายหลังว่าผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ ให้นายทะเบียนมีอำนาจเพิกถอนการจดทะเบียนประกอบะรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรง และแจ้งเป็นหนังสือพร้อมทั้งเหตุผลให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงทราบภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่มีคำสั่งเพิกถอน

หมวด ๖ การอุทธรณ์
มาตรา ๔๓ ในกรณีที่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงตามมาตรา ๔๑ หรือมีคำสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนการปประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงตามมาตรา ๔๒ ให้ผู้ยื่นคำขอ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรง หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง แล้วแต่กรณี มีสิทธิอุทธรณ์เป็นหนังสือต่อคณะกรรมการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับจดทัเบียนหรือหนังสือแจ้งคำสั่งเพิกถอนของนายทะเบียน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้เป็นที่สุด

มาตรา ๔๔ หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นอุทธรณ์ และวิธีพิจารณายื่นอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนด

หมวด ๗ บทกำหนดโทษ
มาตรา ๔๕ ผู้ใดไม่ปฎิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการตามมาตรา ๑๖ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๔๖ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๑๙ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินห้าแสนบาท

มาตรา ๔๗ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๐ หรือมาตรา ๒๗ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่

มาตรา ๔๘ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๑ วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท

มาตรา ๔๙ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๒ หรือมาตรา ๒๘ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๕๐ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๓ 
หรือมาตรา ๒๕ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท

มาตรา ๕๑ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา ๒๖ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่งหรือมาตรา ๓๗ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท

มาตรา ๕๒ ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงใดไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงแผนการจ่ายผลตอบแทนให้นายทะเบียนทราบตามมาตรา๓๘ วรรคสาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท

มาตรา ๕๓ ผู้ใดกระทำความผิดต้องระวางโทาตามพระราชบัญญัตินี้ เมื่อพ้นโทษแล้วยังไม่ครบกำหนดห้าปี กระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้อีก ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา ๕๔ ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามพระราชบัญญัตนี้เป็นนิติบุคคล ให้กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคนั้น ต้องรับโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นๆด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น

มาตรา ๕๕ บรรดาความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ เว้นแต่กรณีตามมาตรา ๔๖ให้คณะกรรมการมีอำนาจมอบหมายให้คณะอนุกรรมการ พนักงานสอบสวนหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการเปรียบเทียบได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ในการเปรียบเทียบหรือเงื่อนไขประการใดๆให้แก่ผู้ได้รับมอบหมายตามที่เห็นสมควรก็ได้ ภายใต้บังคับของบทบัญญัติตามวรรคหนึ่ง ในการสอบสวน ถ้าพนักงานสอบสวนพบว่า บุคคลใดกระทำความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ และบุคคลนั้นยินยอมให้เปรียบเทียบ ให้พนักงานสอบสวนส่งเรื่องมายังคณะกรรมการหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมายให้มีอำนาจเปรียบเทียบตามวรรคหนึ่งภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ผู้นั้นแสดงความยินยอมให้เปรียบเทียบ เมื่อผู้กระทำความผิดได้เสียค่าปรับตามที่เปรียบเทียบแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

บทเฉพาะกาล
มาตรา ๕๖ ให้ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงและผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงที่ประกอบธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้วในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ดำเนินการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงหรือตลาดแบบตรงภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ